การทำนาดำ (ตอน: ไถนา) โดย ครูทรงพล

         พื้นที่ราบสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย   อาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลที่มีผู้คนอาศัยอยู่มานมนานจากหลากหลายชนเผ่าที่มีอยู่ดั้งเดิมและอพยพเข้ามาจากอาณาจักรใกล้เคียง  ที่รู้จักกันของคนทั่วไปและเรียกขานตัวเองว่า "ไทอิสาน"  วิถีชีวิตความเป็นอยู่  ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนที่บรรพชนถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นยังดำรงคงอยู่อย่างมั่นคง   ถึงแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างในโลก ใบนี้ไปมากแล้วก็มิได้ส่งผลกระทบมากมายจนพลิกผันวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอิสาน  อย่างในช่วงเวลานี้ที่เป็นฤดูฝนอันเป็นห้วงของการทำเกษตรกรรมที่สำคัญสุดๆก็ว่าได้   แต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบของการทำนาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่     แดนดินอิสานเป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนมากจึงเหมาะกับการทำนาดำ  ทำนาหว่าน ทำนาหยอดด้วยคนหรือเครื่องมือเครื่องจักร  พัฒนาการของการทำนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ชาวนาเลือกวิธีทำนาที่เหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผืนนาของเขา  ก่อนจะปล่อยให้วันเวลาผ่านพ้นไปสู่เหมันต์อันหนาวเหน็บต่อไป      


เตรียมการทำนาดำ 
            การทำนาในอดีตของไทอิสานนิยมทำนาดำเป็นส่วนใหญ่ ใช้แรงงานในครัวเรือนและอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง ที่เป็นแรงงานหลักสำคัญก็คือควายเพื่อนยากนั่นเอง    เริ่มฤดูกาลทำนา (ทางจันทรคติ คือเดือน ๖  ตรงกับเดือน พฤษภาคม)จากวันแรกนาขวัญ   บางท้องถิ่นทำการแฮกนา  (แรกนา)ไปพร้อมกับราชพิธีทางสนามหลวง  ที่ถือว่าเป็นพิธีมงคลในการทำการเกษตรบนผืนแผ่นดินไทยทั่วทุกภูมิภาค  หลังจากนั้นก็ทะยอยไถเตรียมดินทีเรียกว่า "ไถดะ" ไทบ้านเรียก "ไถฮุด" ไถเพื่อกลบหญ้า วัชพืช เศษฟางแห้งให้เน่าเปื่อย  ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการไถครั้งต่อไป เป็นการเติมจุลลินทรีให้กับดินอีกทาง   ผลพวงที่ได้คือดินเหล่านั้นจะอ่อนตัวเมื่อมีน้ำขัง     ซึ่งง่ายต่อการปักดำและยังได้ปุ๋ยอินทรีชั้นดี  ที่ไม่ต้องลงทุนซื้อหาให้สิ้นเปลืองเงินทอง ผืนนาที่ต่างระดับจะต้องแบ่งกั้นแปลงด้วยการทำคันนา(คันแทคูแท)  เพื่อทดน้ำให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน  น้ำจึงจะสามารถหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ทั่วถึงตลอดทั้งแปลง    เมื่อแบ่งส่วนแล้วจะเรียกแปลงนั้นๆว่า "ไฮ" ตามด้วยชื่อที่จัดตั้งขึ้นตามสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่จริง โดยชื่อประจำแปลงนาต้องไม่ซ้ำกัน  ทำให้จดจำได้ง่ายและสื่อกับทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้อง ไม่สับสน อาทิ ไฮน้ำส่าง (มีบ่อน้ำดื่มในแปลงนี้)  ไฮกกดู่ (มีต้นประดู่ในแปลงนี้)  

ไถดะก่อนตกกล้า
            การเลือกไฮนา(แปลงนา)ที่จะทำเป็นแปลงสำหรับตกกล้า (หว่านกล้า) พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกเพื่อให้เกิดผลดีในหลายด้าน เช่น ความร่วนซุย  ความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงนั้น หากมีมากเกินไปจะทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็วเกินไป  ลำต้นมักจะอ่อนอวบไม่ค่อยแข็งแรง รากฝังลึก ส่งผลต่อการถอนกล้าไปปักดำ  คือถอนได้ยากและลำบากเพราะต้องออกแรงมากและต้องคอยระวังไม่ให้ลำต้นที่อ่อนอวบบอบช้ำมากเกินไป  และระดับของแปลงไม่ควรอยู่ต่ำเกินไป  เวลาฝนตกหนักน้ำหลากต้นกล้าในแปลงจะอวบน้ำ หรือจมน้ำ  แปลงกล้าควรมีที่ไขน้ำเข้าออกเพื่อควบคุมปริมาณให้พอเหมาะกับการเจริญเติบโต  เมื่อเลือกแปลงได้แล้วครบคือเพียงพอกับการปักดำบนผืนนาของเราแล้วก็เริ่มไถดะได้เลย  ไถเสร็จแล้วจึงค่อยไปไถแปลงอื่นๆต่อไปเพื่อรอเวลาให้หญ้า วัชพืชที่ไถกลบนั้นเน่าเปื่อยไม่กลับฟื้นตัวขึ้นมาขัดขวางการเจริญงอกงามของต้นกล้าต่อไป



ติดตามตอนต่อไป

ความคิดเห็น